top of page
รูปภาพนักเขียนKanokwan Thatsawin

ชวนดู “เทรนด์ Personalized Marketing” ผ่านการใช้ AI

อัปเดตเมื่อ 12 พ.ย. 2563



เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การตลาดแบบ Personalized Marketing หรือ “การทำการตลาดส่วนบุคคล” ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ


Personalized Marketing เป็นการทำการตลาดให้ตรงใจผู้บริโภค โดยนำเสนอสินค้าหรือบริการต่างๆให้ตรงจุดกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนมากที่สุด โดยมุ่งประเด็นไปที่ความสนใจที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมายแต่ละราย ซึ่งพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องมือที่ใช้ทำ Personalized Marketing ก็มีให้เลือกแตกต่างกันไป เช่น การนำเทคโนโลยีในด้าน Data Management เข้ามามีส่วนช่วยในการวางแผนการตลาด ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ตัวอย่างของการทำ Personalized Marketing เช่น เวลาที่ผู้บริโภคเข้าไปในเว็บไซต์ E-Commerce แต่ละเว็บไซต์จะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ใช้สำหรับแบ่งกลุ่มลูกค้าตามความสนใจและการดูรายการสินค้าต่างๆ แล้วก็จะจดจำพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มไว้ จากนั้นเมื่อผู้บริโภคเข้าไปยังเว็บไซต์อีกครั้งก็จะเจอรายการสินค้าแนะนำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เคยดูไว้หรือเคยซื้อไปแล้ว ซึ่งผู้บริโภคแต่ละคนจะเห็นสินค้าต่างกันไป


หรือบางครั้งเราเสิร์ชหาสินค้าที่อยากได้ใน E-commerce ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee หรือ Aliexpress หลังจากนั้นกลับมีโฆษณาเกี่ยวกับสินค้านั้นขึ้นมาเต็มไปหมด นั่นก็เพราะว่า เมื่อตอนที่เราเข้าไปในเว็บไซต์นั้นๆ ระบบได้เก็บข้อมูลพฤติกรรม ซึ่งในที่นี้ก็คือสิ่งที่เราสนใจไว้แล้วนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม การทำ Personalized Marketing นั้นยังไม่ใช่ที่สุดของการทำการตลาดแบบรู้ใจผู้บริโภค ยังมี Hyper-Personalization ที่เป็นขั้นกว่า เพราะไม่ได้แค่วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ข้อมูลจากภายนอกที่เป็น Real-Time Data เข้ามาผสมด้วย ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การเก็บข้อมูลดีขึ้นมาก คือ สามารถเก็บข้อมูลที่มีอยู่มากมายได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อที่จะแสดงผลข้อมูลให้ตรงใจผู้บริโภคแต่ละคนมากที่สุด


วันนี้เราจะมาดูตัวอย่างการทำ Personalized Marketing หรือ Hyper-Personalization ผ่านเทคโนโลยีอย่าง AI กันว่าจะช่วยให้การทำการตลาดแบบนี้มีประสิทธิภาพขนาดไหนกัน


การใช้ AIในการทำ Personalized Marketing หรือ Hyper-Personalization จะช่วยระบุกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า

  • AI สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายด้วยความรวดเร็วจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค

  • ไม่จำเป็นต้องระบุลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถรู้ได้ในทันทีว่า ผู้บริโภคคนไหนที่มีเเนวโน้มที่จะสนใจในสินค้าหรือบริการนั้นๆ

  • AI ยังสามารถส่งโฆษณาหรือการตลาดในรูปแบบต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้ทันที ช่วยให้เจาะกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้น


 

เราจะยกตัวอย่าง Case Study ที่ใช้ Hyper-Personalization ในการทำการตลาดอย่าง “Spotify” ที่ทำให้คนฟังติดกันทั่วโลก



Spotify เป็นแอปฟังเพลงที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีฟีเจอร์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Discover Weekly ที่แนะนำเพลงให้กับผู้ฟังในทุกสัปดาห์



สำหรับการทำงานของฟีเจอร์ Discover Weekly นั้นก็เป็นการนำหลักการทำการตลาดแบบ Personalization มาใช้


  • Machine Learning ที่เป็นเหมือนสมองของ AI จะวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของคนฟังว่าเป็นคนแบบไหนจากเพลงที่ชอบฟัง

  • จากนั้นก็เอาข้อมูลเราไปเปรียบเทียบกับผู้ฟังคนอื่นๆ ที่มีความชอบคล้ายกับเรา และดูว่ามีเพลงไหนบ้างที่ผู้ฟังคนนั้นๆ ฟังแล้วแต่เรายังไม่ได้ฟัง

  • ฟีเจอร์นี้ก็จะเอาเพลงนั้นมาแนะนำให้เราฟังอีกทีแบบอัตโนมัติ โดยสร้างเป็น Playlist แนวใหม่ในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ฟังได้เจอเพลงที่ใช่มากขึ้น


ทั้งนี้หากผู้ใช้งานฟังเพลงในแนวที่เปลี่ยนไป ตัว Discover Weekly ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน และหากยิ่งฟังมาก Playlist ก็จะปรับไปตามแนวเพลงที่ชอบได้ดียิ่งขึ้นไปอีก



นั่นจึงทำให้ฟีเจอร์ Discover Weekly มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ฟังแต่ละคนต่างก็รอคอยว่าฟีเจอร์นี้จะแนะนำเพลงไหนมาให้ฟังบ้างในแต่ละสัปดาห์


 

ต่อมาเราจะมาดู Case Study จาก E-Commerce ที่ให้บริการด้านการช้อปปิ้ง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายไม่ได้จำเพาะเหมือน Spotify กันบ้าง


เราจะยกตัวอย่าง E-Commerce ชื่อดังอย่าง “Amazon” ที่ใช้กลยุทธ์ Personalized Marketing จนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น



Amazon เป็นเว็บที่มีสินค้าและผู้ใช้จำนวนมหาศาล จึงมีการทำ Personalized Marketing ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน


  • โดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่ผ่านการวิเคราะห์โดย Machine Learning ในการนำเสนอและแนะนำสินค้าที่มาจากประสบการณ์จริงของลูกค้า ตั้งแต่ประวัติการซื้อ การเลือกดูสินค้า รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่ใช้ในการจัดส่งสินค้า

  • มีการส่งโปรโมชั่นต่างๆ แบบ Real Time

  • การทำการตลาดแบบ Email Remarketing

  • การส่งจดหมายข่าวที่ผ่านการ Personalized ให้ตรงกับความสนใจของลูกค้าที่ได้รับอีเมลนั้น


การนำเสนอสินค้าเฉพาะบุคคลนั้นช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมากนัก เพราะระบบได้ช่วยทำการเลือกให้แล้วว่า สินค้าชิ้นนี้ขายดี คนซื้อเยอะ ส่งฟรี แม้แต่สีในแบบที่คุณชอบ




นั่นแสดงถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีหลากหลายให้ตรงจุดกับลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น ด้วยหลักการ Personalized Marketing จึงทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับความใส่ใจจากการแนะนำสินค้าและอีเมลที่ส่งหา ผลลัพธ์ที่ได้จึง Win-Win คือ Amazon ที่เป็นผู้ให้บริการมียอดขายเพิ่มขึ้น และผู้ใช้บริการได้รับความพึงพอใจขึ้น


 

จะเห็นได้ว่าการทำ Personalized Marketing หรือ Hyper-Personalization ก็ตาม ต่างก็ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น ยิ่งมีตัวช่วยอย่าง AI หรือ Machine Learning ก็ยิ่งทำให้การทำการตลาดแบบนี้เป็นไปได้มากขึ้น เห็นได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างถูกต้องและแม่นยำขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคดิจิทัลนี้ AI มีบทบาทสำคัญมากจริงๆ


ดู 677 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page